วิชาสังคมศึกษาฯ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

ส่งต่อให้เพื่อนอ่าน :
Print Friendly, PDF & Email

ภาคเรียนที่ 1

สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม

 พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมและเป็นหลักในการพัฒนาชาติไทย การศึกษาพุทธประวัติทำให้ทราบเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาได้ถูกต้อง และปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสมในฐานะชาวพุทธ
พุทธสาวกเป็นผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า การศึกษาประวัติสาวก ชาดก เรื่องเล่า และศาสนิกชนตัวอย่างจะทำให้ได้แนวทางที่ดีมาใช้ในการดำเนินชีวิตชาดก เป็นนิทานที่มีความสนุกสนานและมีข้อคิด คุณธรรม ที่สามารถนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้พุทธศาสนิกชนตัวอย่างเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา และส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง
พระรัตนตรัย คือ สิ่งที่เคารพสูงสุดของพระพุทธศาสนา ไตรสิกขาเป็นหลักธรรมสำหรับพัฒนากาย วาจา ใจ ให้ประพฤติแต่สิ่งที่ดีงาม โอวาท 3 เป็นหลักธรรมที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชนควรนำไปปฏิบัติ พุทธศาสนสุภาษิตเป็นคติธรรมทางพระพุทธศาสนาที่เป็นคติเตือนใจเพื่อนำไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิตให้มีความสุข
 พุทธศาสนิกชนที่ดีควรปฏิบัติตนตามหน้าที่ และมรรยาทของชาวพุทธให้ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ต่อไป
การบริหารจิตและเจริญปัญญาเป็นการทำให้เกิดสมาธิทางใจ ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติเกิดสมาธิมากขึ้น และทำงานได้อย่างมีคุณภาพ
วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นวันระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนาโดยการบำเพ็ญความดี ศาสนพิธีเป็นระเบียบแบบแผนการปฏิบัติตนในพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา
ประเทศไทยให้ประชาชนมีเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาใดก็ได้ เพราะศาสนาทุกศาสนามีหลักคำสอนที่สอนให้ศาสนิกชนทุกคนทำความดี และมีศาสนพิธีที่ปฏิบัติเพื่อให้ศาสนิกชนได้ปฏิบัติเพื่อแสดงถึงความศรัทธาในศาสนา

ภาคเรียนที่ 2

สาระที่ 2 หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม

 กฎหมายเป็นข้อบังคับเพื่อควบคุมให้สมาชิกในสังคมปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสงบในสังคม
ปัจจุบันมีข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จำนวนมาก ดังนั้น การเลือกรับข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณและมีประโยชน์จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลข่าวสารที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด
ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองได้ตามระบอบประชาธิปไตยโดยการใช้สิทธิเลือกตั้ง
 วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเจริญงอกงามที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อเป็นแบบแผนในการดำเนินชีวิต นอกจากนี้ยังมีมารยาทไทยเป็นกิริยา วาจาที่สุภาพเรียบร้อย ที่พึงปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสม

สาระที่ 3 เศรษฐศาสตร์

ผู้ผลิต เป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงทรัพยากรให้เป็นสินค้าและบริการ ผู้ผลิตที่มีคุณภาพควรคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภค เป็นผู้ที่ใช้สินค้าและบริการตามความต้องการของตนเอง ผู้บริโภคที่ดีควรคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย ความคุ้มค่าของสินค้าและบริการ และผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
 ทรัพยากร เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทรัพยากรบางชนิดมีอยู่อย่างจำกัดเมื่อนำมาใช้อย่างฟุ่มเฟือยก็จะหมดไป การสร้างจิตสำนึกให้คนรู้คุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดจะทำให้มีทรัพยากรใช้ได้ยาวนานขึ้น
ระบบเศรษฐกิจเป็นระบบที่มีความสัมพันธ์กับผู้ผลิต ผู้บริโภค และภาครัฐซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนให้ประเทศเกิดการพัฒนา
 การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจภายในท้องถิ่นเป็นการพึ่งพาอาศัยกัน เพื่อให้เศรษฐกิจของท้องถิ่นเจริญก้าวหน้า ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศต่อไป

สาระที่ 5 ภูมิศาสตร์

แผนที่ รูปถ่ายทางอากาศ ภาพจากดาวเทียมเป็นเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ที่ใช้ ในการศึกษาลักษณะทางกายภาพและสังคมของพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้ทราบตำแหน่ง ระยะ ทิศ และระบบความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ
 สิ่งแวดล้อมทางกายภาพเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยเพื่อการดำรงชีวิต นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมทางกายภาพยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีสาเหตุมาจากกระบวนการทางธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์
ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่มีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับการเกิดภัยพิบัติซึ่งภัยพิบัติส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ
มนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการดำรงชีวิตปัจจุบันทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเกิดความเสื่อมโทรม ดังนั้นจึงจำเป็นที่ทุกคนควรมีส่วนร่วมในการใช้ ทรัพยากรอย่างประหยัดและคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อให้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมคงอยู่อย่างยั่งยืน

ส่งต่อให้เพื่อนอ่าน :