ลักษณะทางกายภาพของจังหวัดนครสวรรค์

ส่งต่อให้เพื่อนอ่าน :
Print Friendly, PDF & Email

1. ที่ตั้ง ขนาดพื้นที่และอาณาเขตการปกครอง

            จังหวัดนครสวรรค์ เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือตอนล่างของประเทศ ตั้งอยู่ประมาณละติจูดที่ 15.5-16.7 องศาเหนือ และลองจิจูดที่ 99.7-100.4องศาตะวันออก ระยะทางจากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดนครสวรรค์ตามเส้นทางหลวงสายพหลโยธิน (สายที่ 1) 237 กิโลเมตร หรือระยะทางตามทางรถไฟ 250 กิโลเมตร พื้นที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 30 เมตร พื้นที่ของจังหวัด 9,597,677 ตารางกิโลเมตร หรือ 5,998,548 ไร่ มากเป็นอันดับ 9 ของภาคเหนือ

ที่ตั้งและอาณาเขต ติดต่อกับจังหวัดต่าง ๆ ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอปางศิลาทองอำเภอขาณุวรลักษบุรีอำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร อำเภอบึงนาราง อำเภอโพทะเล อำเภอบางมูลนาก อำเภอดงเจริญ จังหวัดพิจิตร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอชนแดน อำเภอบึงสามพัน อำเภอวิเชียรบุรีจังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอโคกเจริญ อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี อำเภอสรรพยา อำเภอมโนรมย์ อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอเมืองอุทัยธานี อำเภอทัพทัน อำเภอสว่างอารมณ์ อำเภอลานสัก อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

2. ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิศาสตร์โดยทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเกษตร เป็นที่ราบประมาณ 3 ใน 4 ของพื้นที่จังหวัด มีแม่น้ำสายสำคัญคือ แม่น้ำปิง แม่น้ำยม และ แม่น้ำน่าน ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านช่วงกลางของจังหวัด และมีเพียง 6 อำเภอที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำสายหลัก สภาพภูมิประเทศทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัด มีภูเขาสลับซับซ้อนและเป็นป่าทึบในเขตอำเภอลาดยาว อำเภอแม่วงก์ อำเภอแม่เปินและอำเภอชุมตาบง พื้นที่ป่าของจังหวัดเป็นสภาพป่าที่เชื่อมโยงติดต่อกับป่าห้วยขาแข้งของจังหวัดอุทัยธานีในส่วนทางใต้ของอำเภอแม่วงก์ ส่วนตอนบนของอำเภอแม่วงก์และอำเภอลาดยาวเป็นส่วนติดต่อกับป่าทึบของจังหวัดตากที่เชื่อมโยงไปถึงป่าทุ่งใหญ่นเรศวรของจังหวัดกาญจนบุรี ส่วนด้านตะวันออกของจังหวัด อำเภอหนองบัวและอำเภอไพศาลี เป็นพื้นที่ราบลาดเทติดต่อกับเทือกเขาเพชรบูรณ์

สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัด เป็นที่ราบค่อนข้างเรียบแคบบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโดยเฉพาะตอนกลางของจังหวัด ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอบรรพตพิสัย อำเภอชุมแสง อำเภอท่าตะโก อำเภอโกรกพระ อำเภอเก้าเลี้ยว และอำเภอพยุหะคีรี สภาพพื้นที่ทางทิศตะวันตก (เขตอำเภอลาดยาว อำเภอแม่วงก์ อำเภอแม่เปินและอำเภอชุมตาบง) และทิศตะวันออก (เขตอำเภอหนองบัว อำเภอไพศาลี อำเภอตากฟ้าและอำเภอตาคลี) มีลักษณะเป็นแบบลอนลูกคลื่น ยกตัวขึ้นจากตอนกลางของจังหวัดสูงจากระดับน้ำทะเล ปานกลาง 20-100 เมตร

3. ลักษณะภูมิอากาศ
มีลักษณะอากาศร้อนชื้น มีช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งที่เห็นชัดเจน ฤดูฝนได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อยู่ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม – กลางเดือนตุลาคม และจะมีฝนตกชุกในเดือนกันยายน – ตุลาคม ส่วนฤดูหนาวได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงกลางเดือนตุลาคม – กลางเดือนกุมภาพันธ์ และจะมีอากาศหนาวเย็นในช่วงปลายเดือนธันวาคม – กลางเดือนมกราคม

สำหรับปี 2558 เดือน มกราคม มีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 14.2 องศาเซลเซียส และช่วงเดือนมีนาคม – เดือนกรกฎาคม มีอากาศร้อนถึงร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุดวัดได้ 42.5 องศาเซลเซียสในเดือนพฤษภาคม 2558 อุณหภูมิเฉลี่ย 29.12 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝน 804.3 มิลลิเมตร และมีฝนตกทั้งหมด 110 วัน

ส่วนปี 2559 เดือน กุมภาพันธ์ มีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 10.4 องศาเซลเซียส และช่วงเดือนมีนาคม – เดือนกรกฎาคม มีอากาศร้อนถึงร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุดวัดได้ 43.7 องศาเซลเซียส ในเดือนพฤษภาคม 2559 อุณหภูมิเฉลี่ย 29.08 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝน 1,538.8 มิลลิเมตร และมีฝนตกทั้งหมด 110 วัน

สภาพภูมิอากาศของจังหวัดนครสวรรค์ สัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝนในแต่ละปี หากปีใดปริมาณน้ำฝนมากกว่า 1,200 มิลลิเมตรต่อปี จะเกิดปัญหาน้ำท่วม ถ้าปริมาณฝนต่ำกว่า 1,000 มิลลิเมตรต่อปี จะประสบปัญหาฝนแล้ง ทั้งนี้สืบเนื่องจากสภาพพื้นที่ของจังหวัดที่มีลักษณะคล้ายท้องกระทะ หรือผีเสื้อกางปีกบิน

หมายเหตุ ค่าเฉลี่ยของปริมาณฝน คาบ 30 ปี (พ.ศ.2524-2553) ฝนรวม 1,149.7 มิลลิเมตร จำนวนวัน 112.1 วัน

4. คำขวัญจังหวัดนครสวรรค์

“เมืองสี่แคว แห่มังกร พักผ่อนบึงบอระเพ็ด ปลารสเด็ดปากน้ำโพ”

5. ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด

หมายถึง ตามคติทางศาสนาที่เชื่อถือกันมาว่าบนสวรรค์นั้นเป็นที่อยู่ของเหล่าเทพทั้งหลาย และผู้มีบุญมากเท่านั้นจึงจะได้ไปบังเกิดในสวรรค์ มีวิมานเป็นที่สถิตอย่างสุขสบาย เมื่อจังหวัดนี้ชื่อว่า นครสวรรค์ แปลว่าเมืองของชาวสวรรค์ จึงได้นำเอา วิมาน มาเป็นสัญลักษณ์ของเมืองนี้ จังหวัดนครสวรรค์ ใช้อักษรย่อว่า นว

6. ธงประจำจังหวัด

7. ดอกไม้ประจำจังหวัดนครสวรรค์

ชื่อดอกไม้ ดอกเสลา

8. ต้นไม้ประจำจังหวัด

ชื่อพรรณไม้ เสลา ชื่อวิทยาศาสตร์ agerstroemia loudonii

กิจกรรม

คลิกเรื่องต่อไป
ส่งต่อให้เพื่อนอ่าน :